fbpx

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ต้องประสบพบเจอกับชะตากรรมเรื่องโควิด-19 ไม่ใช่น้อย เพราะบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งประกาศผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 มีผลประกอบการที่ขาดทุนอยู่ที่ 18 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันที่ขาดทุน 11 ล้านบาท กลายเป็นว่าขาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งจากมาตรการการปิดร้านหนังสือด้วย

โดยรายได้โดยรวมอยู่ที่ 602 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจขาย 543 ล้านบาท รายได้จากค่าธรรมเนียมการศึกษาของโรงเรียนเพลินพัฒนา 48 ล้านบาท และรายได้อื่น ๆ รวมกัน 10 ล้านบาท โดยรายได้โดยรวมลดลงอย่ามีนัยสำคัญ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในช่วงโควิด-19 อีกด้วย ทำให้ขาดทุนทั้งหมดรวมกันอยู่ที่ 18 ล้านบาทนั่นเอง

ปัจจุบันซีเอ็ด ทำธุรกิจต่าง ๆ ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในธุรกิจเกี่ยวกับหนังสือ และการศึกษา ประกอบไปด้วย ธุรกิจร้านหนังสือ โดยเป็นผู้ดำเนินงานร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์และเครือข่าย ซึ่งได้แก่ ร้านเครือข่ายซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์และศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่บริษัทเป็นผู้บริหารเองทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด , ธุรกิจรับจัดจำหน่ายหนังสือ โดยจัดจำหน่ายให้กับหนังสือที่บริษัทผลิตเองและสำนักพิมพ์อื่น เพื่อจำหน่ายให้กับร้านหนังสือทั่วไป รวมทั้งช่องทางการขายอื่น ๆ , ธุรกิจสำนักพิมพ์ โดยผลิตหนังสือ วารสารเชิงวิชาการและสาระความรู้  , โรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนซึ่งเปิดสอนในระดับเตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 และบริษัท เบสแล็บ จำกัด ประกอบธุรกิจให้คำปรึกษา การจัดหา จำหน่ายเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ และให้คำปรึกษา จำหน่ายเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์

จากคำอธิบายผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2563 ซีเอ็ดได้ชี้แจงว่า “สำหรับไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยและทั่วโลกชะลอตัวลง จากมาตรการการปิดเมือง โดยมีคำสั่งและประกาศจากหน่วยงานภาครัฐที่ให้งดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เพื่อบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้รายได้หลักของบริษัทฯ ลดลงอย่างมากโดยเฉพาะร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์เกือบทั้งหมดต้องปิดทำการตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม เป็นต้นมา

ด้วยมาตรการการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เรื่องการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่ว คราว ซึ่งร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มพื้นทีดังกล่าว จึงส่งผลให้ไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม บริษัทฯ ถูกปิดสาขาจำนวน 289 สาขา และจำนวนสาขาที่เปิดได้มีเพียง 23 สาขา โดยปัจจุบันกระจายตัวให้บริการในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้

  • กรุงเทพฯ เปิดทำการ ณ สำนักงานใหญ่ อาคารอินเตอร์ลิงค์ทาวเวอร์ ชั้น 19
  • ภาคกลาง 7 สาขา คือเซ็นเตอร์ สแควร์ ลพบุรี ชั้น 1 , แฮปปี้ พลาซ่า พิจิตร ชั้น 1 , โลตัส ท่าหลวง พิจิตร ชั้น 1 , โลตัส สระบุรี ชั้น 1 , โลตัส หนองแค สระบุรี ชั้น 1 , บิ๊กซี อ่างทอง ชั้น 1 และ สุขอนันต์ ปาร์ค สระบุรี ชั้น 1
  • ภาคตะวันตก 2 สาขา คือ แกรนด์พลาซ่า บ้านโป่ง ราชบุรี ชั้น 1 และรอยัลพาร์ค ราชบุรี (ซันนี่เก่า) ชั้น 1
  • ภาคตะวันออก 5 สาขา คือ โลตัส จันทบุรี ชั้น 1 , โลตัส พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ชั้น 1 , บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ฉะเชิงเทรา ชั้น 1 , บิ๊กซี จันทบุรี ชั้น 1 และ สยามฟิวเจอร์ ฉะเชิงเทรา ชั้น 1
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 สาขา คือ UD TOWN อุดรธานี ชั้น 1 , โลตัส ยโสธร ชั้น 1 , บิ๊กซี ยโสธร ชั้น 1 , บิ๊กซี อำนาจเจริญ ชั้น 1
  • ภาคใต้ 7 สาขา คือ NK พังงา ชั้น 1 , โลตัส จันดี นครศรีธรรมราช ชั้น 1 , โลตัส สิชล นครศรีธรรมราช ชั้น 1 , โอเชี่ยน ชุมพร ชั้น 1 , บิ๊กซี นครศรีธรรมราช ชั้น 1 , บิ๊กซี สตูล ชั้น 1 และ สหไทย ทุ่งสง ชั้น 1
  • ภาคเหนือ 3 สาขา คือ เสรีสรรพสินค้า ลำปาง ชั้น 1 , มาร์คโฟร์ แพร่ ชั้น 1 และ มีโชค พลาซ่า เชียงใหม่ (ห้างรวมโชค) ชั้น 1
  • และปริมณฑล 7 สาขา คือ Pure Place คลอง 2 ชั้น 1 , โลตัส ปทุมธานี ชั้น 1 , โลตัส รังสิต-นครนายก ชั้น 1 , โฮมโปร ลำลูกกา คลอง 5 ชั้น 1 , บิ๊กซี ปทุมธานี ชั้น 1 , บิ๊กซี รังสิตคลองหก ปทุมธานี ชั้น 1 และ บิ๊กซี ลำลูกกา คลอง 5 ชั้น 1

อีกทั้งจากยอดขายที่ลดลงตามมาตรการล็อคดาวน์และภาพรวมธุรกิจค้าปลีกที่หดตัวลง ตามกําลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตร ซึ่งรอการกระตุ้นจากภาครัฐ รวมถึงปญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลต่อกําลังซื้อเป็นสำคัญ ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้มีผลกระทบเป็นวงกว้างและต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูกลับมาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ กําลังพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น เพื่อจําหน่ายสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้าที่ปรับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยมาทางออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งบริษัทฯ ยังปรับปรุงโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ ธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Digital ก็เป็นอีกด้านหนึ่งซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และกําลังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการร่วมกับพันธมิตรในเรื่องของการศึกษา ผู้ให้บริการ Content และผู้นําเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของโลก เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นผู้นําธุรกิจหนังสือ และเริ่มต้นยุคใหม่แห่งการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทั้งบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และออฟไลน์”