fbpx

วันนี้ส่องสื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังการชี้แจงระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ร่วมมือกับกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และสำนักงาน กสทช. ในการร่วมออกแบบระบบการเรียนการสอนช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยจัดการเรียนการสอนผ่านสัญญาณฟรีทีวี หรือทีวีในระบบดิจิทัลทั้งหมด 17 ช่อง ครอบคลุมทุกระดับชั้นการศึกษาทั้งขั้นพื้นฐาน – มัธยมศึกษาตอนปลาย – อาชีวศึกษา และกศน. เราเลยดึงตัว “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมพูดคุยไขความกระจ่างกัน จะเป็นอย่างไร? ไปติดตามกันได้เลย

ในส่วนของความช่วยเหลือในกรณีที่หากว่าเด็กในแต่ละชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงรายการทีวีทางไกลได้?

ต้องตรวจสอบข้อมูลหลังวันที่ 18 ครับว่า ความต้องการในความช่วยเหลือเนี่ย จะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ผมมั่นใจครับว่าอาจจะมีบางคนต้องการตัวเชื่อมทีวีเปลี่ยนแปลงระบบอะไรต่างๆ หรือว่าถ้าเป็นเด็กโตหน่อยบางคนก็อาจจะต้องการช่องทางที่สามารถทำให้มีการเสริมการสอนออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงตรวจสอบ จริง ๆ แล้วได้ข้อมูลมาเบื้องต้นแล้วนะครับ อย่างเด็ก ๆ ในกรุงเทพมหานครเนี่ย น่าจะมีความต้องการในเรื่องของ digital box ประมาณ 300,000 เครื่องนะครับ จะทำให้ระบบการเรียนการสอนทางทีวีได้ ซึ่งอันนี้ทาง กสทช. แล้วก็ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้เตรียมในเรื่องของอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของความขาดแคลนหรือความจำเป็นที่ต้องใช้ ผมหวังว่าเราไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ถ้าหากว่าสามารถทำการสอนที่โรงเรียนได้ อันนี้ก็เป็นมาตรการที่เสริมเท่านั้นเองครับ ซึ่งตัวกล่องนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายครับ มาจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่มีค่าใช้จ่าย

ตารางเรียนจะสามารถออกได้วันไหน?

ตอนนี้เราตามตารางเรียนจะเรียงตามของทีวีนะครับ ส่วนโรงเรียนต่าง ๆ จะไปปรับตามความเหมาะสมในแต่ละชั้นเรียน ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนนะครับที่จะมองเห็นถึงความสำคัญในแต่ละเรื่องนะครับ เราเตรียมในเรื่องของพื้นฐานความรู้ ความรู้ที่เข้มข้นขึ้น ความรู้ที่ต้องเหมาะกับบริบทของโรงเรียนหรือว่าพื้นที่ เป็นสิ่งที่โรงเรียนและพื้นที่มีอำนาจในการที่จะเพิ่มเติม ตราบใดที่เป็นสาระที่เหมาะสมกับเด็กครับ

เท่ากับว่าวันที่ 18 นอกเหนือจากทีวีทางไกล ระบบของแต่ละโรงเรียนในเรื่องของการการเรียนการสอนนี่ก็จะควบคู่ไปด้วย?

ในหลาย ๆ โรงเรียนครับ อาจจะมีบางพื้นที่ที่ยังไม่มีความพร้อมนะครับ ก็ต้องให้เวลาเขานะครับ ถึงมีการให้เวลา 45 วันในการเตรียมตรงนี้ แต่เท่าที่ผมตรวจสอบดูต้องขอชื่นชมคุณครูในหลาย ๆ โรงเรียนนะครับ ที่ได้ตั้งหลักแล้วก็เตรียมความพร้อมอยู่พอสมควรเลย ทำการบ้านอย่างเข้มข้น ทำให้เรามีข้อมูลที่เกือบจะชัดเจนแล้วว่า เราต้องทำอะไรได้บ้างนะครับ เตรียมพร้อมอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายมีงบประมาณอย่างไร งบประมาณเรามีเพียงพอนะครับ ในกระทรวงศึกษาธิการนะครับเพราะว่าเรามีการตัดงบประมาณในหลายส่วน เพื่อเตรียมในการต่อสู้กับโควิดครั้งนี้นะครับ เพราะฉะนั้นไม่ได้ไปรบกวนอะไรที่จะทำให้การขับเคลื่อนการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานพื้นฐาน ส่วนการขับเคลื่อนที่จะทำให้มีความเข้มข้นขึ้นในการฟื้นฟูในการเตรียมตัวรับรองรับเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอะไร ก็เป็นส่วนที่เราต้องเสริมเติมโดยที่ปรับงบประมาณของปี 64 เพราะวันนี้เราเห็นโอกาสของประเทศนะครับ ในขณะที่วิกฤตตรงนี้น่าจะทำให้มีคนสนใจมาลงทุนสนใจมาท่องเที่ยวนะครับ คนสนใจมาทำอะไรหลาย ๆ อย่างในประเทศไทย เราต้องมีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมในการที่จะเสริมความแข็งแกร่งของประเทศตรงนั้น

ในกรณีที่โรงเรียนสามารถเปิดได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม มีวางมาตรการที่สอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุขไหม?

ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หน้ากากอนามัยต้องมีตลอดเวลานะครับ ในส่วนของระยะในห้องเรียนต้องมีนะครับ ทำให้เราอาจจะต้องให้นักเรียนมาเป็นผลัดในแต่ละชั้นเรียนที่แตกต่างกันนะครับ อันนี้ต้องต้องแล้วแต่บริบทของแต่ละโรงเรียนว่าโรงเรียนนั้นมีเด็กชั้นไหนที่มาก แล้วก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างไร ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเป็นหลักอยู่แล้วครับ ความสะอาดที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอเนี่ยก็จะเป็นภาระหน้าที่ที่โรงเรียนอยู่พอสมควร แต่ผมคิดว่าวันนี้ทั้งบุคลากรทางการศึกษา สถานที่ศึกษาต่าง ๆ เนี่ยเตรียมตัวไม่แตกต่างกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เสียสละและกระทำนอกเหนือจากหน้าที่การงานที่ที่ตัวเองได้ทำมา วันนี้เรามายืนเคียงข้างกันเพื่อทำให้การศึกษาไทยเดินหน้า

ประเมินบางพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องไหมว่าจะมีสักกี่โรงเรียนที่เปิดได้หรือว่าตอนไหนที่เปิดได้บ้างถ้าหากว่าพร้อมเปิด?

ถ้าสถานการณ์วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นวันนี้ ผมมั่นใจว่าประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนทั่วประเทศสามารถเปิดได้โดยที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ฉะนั้นถ้าเราช่วยกันรักษาสภาพไว้ได้ครับ มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้แน่นอน

สมมุติว่าหากเปิดเรียนปกติในเดือนกรกฎาคม ทุกโรงเรียนในช่วงแรก ในเรื่องของการเรียนหากมีการเปิดเรียน ได้ตามปกติค่ะ ในเรื่องของวันเวลาเรียน ไม่ต้องเรียนครบทั้งสัปดาห์ มีแบบแผนที่ชัดเจนรึยัง?

ขณะนี้ได้ให้เป็นนโยบายแล้วนะครับ ว่าในการเรียนช่วงวิกฤติเนี่ย เอาสาระที่มีความจำเป็นและสำคัญตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่นั้น โรงเรียนนั้น และกลุ่มนักเรียนและนั้น บางคนอาจจะมีแนวทางที่ไปทางศิลปะชัดเจน เราก็ต้องจัดในการเรียนการสอนที่มีศิลปะให้ เขาจะได้ฝึกฝนโดยจัดเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งแน่นอนครับในโรงเรียนเด็กที่สนใจศิลปะก็อาจจะไม่มาก ส่วนพื้นฐานสาระที่มีความจำเป็นเช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในการจัดแต่งห้องเรียนอย่างไร ในข้อที่โรงเรียนต้องไปทำการบ้านมานิดนึง ปีที่ผ่านมาก็มีการส่งการบ้านมาให้ดูนะครับก็สามารถทำได้ ในการที่จะแบ่งห้องเรียนจาก 40 เป็น 20 เข้าเป็น 2 ผลัดโดยที่เรียนที่บ้าน ส่วนดูทีวีส่วนหนึ่งนะครับ เป็นช่วง ๆ แล้วหลังจากนั้นก็มาทำแบบฝึกหัดกันที่โรงเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ กับคุณครู

การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจะมีส่วนสนับสนุนการเรียนของทางกระทรวงศึกษาได้ ในความเห็นส่วนตัวมองว่าได้มากน้อยแค่ไหน?

จริง ๆ แล้วก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 ผมมีโอกาสได้เยี่ยมชมโรงเรียนหลายสิบโรงเรียนด้วยตัวเองนะ ที่มีการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ โดยใช้สื่อของมูลนิธิฯ ต้องบอกว่าทั้งสื่อและแบบฝึกหัดเนี่ย มีความครบถ้วนทางด้านพื้นฐาน ผมเปิดดูเอกสารต่าง ๆ ดูแบบฝึกหัดนะครับ แล้วก็ไล่ดูสื่อในเทปต่าง ๆ ที่มีความเหมาะสมมาก ๆ นะครับ ที่จะช่วยเหลือการศึกษาไทย เพียงแต่ว่าการที่เราจะไปควบคุมนะครับหรือว่าคุณครูจะมีความเข้าใจจริง ๆ หรือว่างบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ในเรื่องหนังสืออื่น ๆ เนี่ย ถ้าหากมีการผสมผสานกันเอาข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เนี่ยมาใช้เพื่อปรับปรุง จะมีประโยชน์ขึ้นอีกเยอะนะครับ เพราะฉะนั้นเป็นการร่วมมือกันนะครับ ของทุกภาคส่วน ที่จะทำให้สิ่งที่เรามีอยู่ ซึ่งดีอยู่แล้วนะครับ ขยายผลไปดีถึงดีที่สุดในอนาคต

หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จะมีการประเมินผลที่ยากง่ายอย่างไรบ้าง?

จากสาระที่ได้ดูผ่านโทรทัศน์แล้ว มีแบบฝึกหัดที่ตามมาซึ่งในแบบฝึกหัด ถ้าคนที่ได้เข้าไปดูจริง ๆ เนี่ย จะเห็นนะครับว่าแบบฝึกหัดไม่ใช่เป็นแบบฝึกหัดที่ Standard หรือว่าเป็นมาตรฐานของทุกคน ถ้าเป็นเด็กที่มีความรู้ความเข้าใจมากเนี่ยก็สามารถทำได้ไปถึงแบบฝึกหัดที่ 11,12,13 ผมยกตัวอย่างนะครับ ถ้ามีความรู้พื้นฐานเนี่ยเขาก็จะอยู่ที่ 1,2,3 และจะค่อย ๆ ขยับขึ้นไป ฉะนั้น เป็นสาระที่มีความครบถ้วน ที่ทางฝ่ายวิชาการของทางมูลนิธิเนี่ยได้เตรียมเอาไว้ 

ที่ผ่านมาเนี่ยข้อจำกัด หรือสิ่งที่เราไม่ได้ทำเนี่ย คือเราไม่ได้ประเมิน เราไม่ได้เอาผลของแบบฝึกหัดมา analyze หรือใส่เข้ามาเป็นระบบดิจิทอลที่ใช้ AI หรือ Artificial Intelligence ในการที่จะประมวล ฉะนั้นพอเราไม่ได้ประมวลอย่างเข้มข้นเนี่ย ปัญหามันก็เกิดขึ้นว่าเราก็ไม่รู้ว่าตกลงเนี่ย เด็กที่อยู่ในกระบวนการและใช้สื่อ DLTV ทั้งหมด ยังขาดตกบกพร่องอะไร ต้องการเสริมอะไร ซึ่งโอกาสช่วงที่มีวิกฤตเนี่ย เราจะเอาข้อมูลเหล่านี้ และก็จะมาแนะนำให้คุณครูเนี่ย ต้องเก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยี ซึ่งคุณครูก็เริ่มมีความเข้าใจแล้วว่ามีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขนาดไหน แต่ก่อนก็จะไม่มีความจำเป็น ไม่มีความคุ้นเคย วันนี้คุณครูทุกท่านก็เริ่มมาเรียนใน Platform ต่าง ๆ ที่จะเก็บข้อมูลเราใช้เวลาไม่นานหรอกครับ เอาสิ่งเหล่านี้ในอนาคตเนี่ยสามารถเอาแบบฝึกหัดทั้งหมดเนี่ย เข้ามาสแกนใส่ข้อมูลและเก็บเป็น Data file ของเด็ก หรือเด็กเนี่ยถ้าในอนาคตมีงบประมาณพอเนี่ย ทำข้อสอบในโรงเรียนผ่านห้องคอมพิวเตอร์เก็บไว้ได้ทันที นี่คือการผสมผสานเป็นโอกาสที่เราจะใช้วิกฤตตรงนี้เนี่ย มาปรับเปลี่ยนการศึกษาไทย เตรียมงบประมาณที่เหมาะสม เพื่อใช้ในอนาคต และเราจะวัดได้ครับทั้งคุณครู ทั้งสื่อ ทั้งนักเรียน ว่าเราพร้อมที่จะปรับตัวเองสำหรับศตวรรษที่ 21 หรือไม่

จะมีคำสั่งออกมาในแง่ของการจัดห้องเรียนหรือมีกฎกติกาทางโรงเรียนเมื่อไหร่ดี?

คือตอนนี้กำลังตรวจสอบข้อมูลนะครับ โรงเรียนที่จะมีปัญหาเนี่ยน่าจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในกรุงเทพและก็อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีนักเรียนพันคนขึ้นไปนะครับ การที่จะแบ่งห้องเรียนจัดกลุ่มห้องมี 45-50 คนเนี่ย ไปเป็น 20-25 คน ก็จะไม่ได้ง่ายนะครับ ต้องแบ่งเวลา ต้องใช้สื่อที่สามารถดูได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หรือว่าออนไลน์เป็นตัวเสริมก่อน ค่อยเข้ามาเรียน จะใช้เวลาอาจจะแค่ 20 นาทีจากการที่รับสาระมาก่อนหน้านี้ มีการแบ่งแน่นอนครับ เพียงแต่ว่าจะดูก่อนว่าเทียบจำนวนนักเรียน จำนวนห้องจะแบ่งกี่ผลัด และจะแบ่งสาระอย่างไร สาระที่สำคัญ แน่นอนครับ ต้องเป็นความจำเป็น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ บางอย่างอาจจะต้องลดไปบ้างนะครับกิจกรรมที่มี ในบางเรื่องศิลปะอาจจะต้องลด แต่เด็กที่เก่งศิลปะอาจจะมีความสนใจก็อาจจะเรียนได้ เพราะเขาสนใจในเรื่องนี้ เขามีความสามารถในเรื่องนี้ โรงเรียนก็จะทราบดีนะครับ ฉะนั้นต้องให้สื่อมวลชนเข้าใจนะครับว่า เราไม่ได้บอกว่า รัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ สนใจแค่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไม่ให้ความสนใจเรื่องอื่น โรงเรียนและพื้นที่เป็นตัวกำหนดครับว่าอะไรเหมาะสมกับเด็กกลุ่มไหน คนไหนครับ

ระดับชั้นม.ปลาย จะเป็นการบันทึกเทปแล้วก็รับชมกันด้วย?

ณ ขณะนี้เนี่ยในระดับชั้นม.4-6 เนี่ยก็กำลังถ่ายทำคอนเทนต์อยู่นะครับ ในส่วนของสาระที่สำคัญ ๆ มีความจำเป็น ในการเตรียมตรงนี้เนี่ยก็คิดว่าในช่วงคาบเรียนแรกเนี่ย 20 นาทีก็จะเป็น content ที่ถ่ายเอาไว้นะครับ ส่วน  20 นาทีหลังที่ให้คุณครูในแต่ละโรงเรียนในแต่ละชั้นเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ 2 ทางกับเด็ก ๆ นะครับ ซึ่งอันนี้ต้องใช้ smartphone ต้องใช้ Tablet หรือว่าต้องใช้ Laptop ถ้าหากว่าในพื้นที่ไหนไม่มี ทั้ง 3 อุปกรณ์เหล่านี้เนี่ยคุณครูก็เอาห้องเรียนนะครับเป็นฐานในการที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ นะครับ 2 ทาง แต่เราคิดว่าเด็กม.4-6 เนี่ยจะสามารถปรับตัวเองได้นะครับไม่ว่าจะเป็นทั้งเรียนออนไลน์เสริมจากการที่เห็นสื่อทางทีวีแล้วนะครับหรือว่ามาเรียนในโรงเรียนในเวลาที่เข้าผลัดครับ

อย่างของกศน. หรือว่าอาชีวะ รูปแบบการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไรจะเน้นไปทางไหน?

ในส่วนของกศน. มีสาระอยู่แล้วนะครับที่ได้ทำการเผยแพร่ผ่านฟรีทีวีมาอย่างต่อเนื่องนะครับ ส่วนอาชีวะเนี่ยก็เป็น ข้อกังวลที่ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องมาผสมผสานนะครับ ถ้าหากว่าเป็นสื่อผ่านทางโทรทัศน์เนี่ยเราอยากจะให้เรียนเหมือนกับ เด็กอนุบาลด้วยซ้ำครับ เรียนภาษาอังกฤษ ที่จะต้องมีความคุ้นเคยในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่พอสมควร แต่อาชีวะเนี่ยเราเน้นไปที่การเรียนที่โรงเรียนครับ ถ้าหากว่าสามารถทำได้ครับเพราะว่าอาชีวะเนี่ย เป็นการผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติครับ ก็ต้องแบ่งเวลา แต่เด็กอาชีวะเนี่ยจะมีความสามารถเพียงพอครับ ที่จะแบ่งเวลาของเขา สามารถใช้ smartphone ใช้กระบวนการต่าง ๆ ในการรับรู้ข้อมูล


สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : กฤตนัน ดิษฐบรรจง
แกะเทปโดย : Nok Kanokon