fbpx

ช่วงนี้ทุกคนคงจะอยู่บ้านกันบ่อยขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อยใช่ไหมครับ? หลายคนก็ได้มีโอกาสเปิดดูรายการโทรทัศน์หลายๆ รายการ รวมไปถึงสารคดีด้วยเช่นกันใช่ไหมละครับ? วันนี้ส่องสื่อได้นำเรื่องราวที่ยังไม่เคยได้เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน มาเผยแพร่เพื่อพูดถึงประสบการณ์ในการทำสารคดีเชิงข่าวให้ทุกคนได้อ่านกัน โดยเราไม่ได้มาพูดด้วยตัวเอง แต่วันนี้เราเชิญ “ภูริลาภ ลิ้มมนตรี” ซึ่งตอนนี้เขาทำงานเป็นหัวหน้า Producer อยู่ที่ PPTV HD ช่อง 36 ผู้รับผิดชอบรายการข่าวและสารคดีเชิงข่าวมากมาย โดยเฉพาะ “สารตั้งต้น” ซึ่งเป็นสารคดีเชิงข่าวที่ดีติดอันดับของส่องสื่อเลยก็ว่าได้ เราลองมาฟังประสบการณ์ว่าเขาปรับจากเป็นเต็กที่อยากจะลาออก เพราะทำสารคดีเชิงข่าวไม่ได้ ก้าวมาเป็นหัวหน้า Producer ได้อย่างไรบ้าง? ไปติดตามกันครับ

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ได้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 ในงาน “ส่องสื่อ Meet Up #2” ณ มิวเซียมสยาม ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะลุกลามจนเกิดการประกาศควบคุมพื้นที่

สื่อไทยจะสามารถทำ Data Journalist ได้หรือไม่?

จริง ๆ ถามว่าในองค์กรอิสระหลาย ๆ ส่วนเอง แล้วเด็กรุ่นใหม่สนใจในเชิง Data เยอะมากนะครับ ถามว่าการเข้าถึงข้อมูลปัจจุบันเรามีข้อมูลไม่ได้ลึกในหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ แต่ว่าในส่วนของการทำ Data หรือทำ Library ของดิจิตอลทั้งหมดเนี่ย ถามว่าตอนนี้มีองค์กรหลาย ๆ ส่วนเริ่มพยายามปรับตัว พยายามจะเรียนรู้กับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ทุกวันนี้มันยังอยู่ใน Step แรก ถือว่าเป็นจุดเริ่ม ไม่ได้อยู่ตรงกลางและเป็นการคุย ถ้าสังเกตให้ดีว่าใน Timeline ของปีตั้งแต่กลางปี 2561 จนปี 2562 มันมีการพูดถึง Data J เยอะมาก Data visualization มากนะครับ แต่อยู่ในระดับ Brainstorm มากกว่า มันยังไม่ออกมาเป็นรูปร่างที่ทำให้เป็น Publishing ให้คนสามารถเข้าไปค้นหาได้ แต่ถามว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีตรงนี้มันจะทำให้เราตาม แล้วยังไงเราก็ต้อง follow up อยู่แล้ว

ในช่วงของการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คือว่ามันเป็น Data Journalist หรือไม่?

ถามว่าเป็นของ Data Journalist ไหม จริง ๆ ยังไม่ถึงนะครับ เรื่อง Platform มัน unique หรือ Content เนี่ยมัน stick มากกว่า มันมี stat เก่าอยู่แล้ว มันเป็นข้อมูลเปรียบเทียบของการเลือกตั้งตั้งแต่ครั้งสุดท้ายกับปัจจุบัน แต่ว่าสิ่งที่วันนี้มันได้เพรียวแล้วมันได้อะไรมากกว่าเนี่ย คือสนามข่าวเด็กรุ่นใหม่กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างเราเองผ่านประสบการณ์ในสภาวะที่อยู่ในการชุมนุม เราถูกเรียนรู้ตรงนี้มา แต่เด็กพอเด็กรุ่นใหม่มันเป็นยุคดิจิตอลหมดแล้ว เขาไม่เคยผ่านเหตุการณ์แบบนี้ เขาสามารถกรองข้อมูล หาข้อมูลทั้งสองฝ่ายได้ หา content ที่บางอย่างเราก็ไม่ได้คิดว่าเออน้องมีความสงสัยในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งนี่จะเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้นักข่าวเนี่ยจะเริ่ม Develop ตัวเองว่าไม่ใช่แค่เราว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร มันจะเกิดยุคที่เป็นนักข่าวที่สามารถเฟ้นข้อมูลและหาข้อมูลเชิงลึกได้ แต่ผมว่าต้องใช้เวลา 2-3 ปีความสัมพันธ์ของ Data J กับตรงนี้มันจะเกิดขึ้นพร้อมกัน วันนี้มันแยกกันอยู่ แล้วความหมายของทั้งสองอย่างมันก็ยังไม่ได้ถูกตีความในบริบทของทุกองค์กร ก็ยังเล่าคนละแบบกันอยู่ด้วยซ้ำ ตรงนี้ยังยากอยู่

แล้วนักข่าวรุ่นใหม่ที่เข้ามาตอนนี้ ยังขาดอะไรในการทำงานอีกไหมครับ

คือในหลักสูตรการเรียนการสอนเนี่ย โดยที่ผมไปเป็นผู้สอนโดยบางครั้งเนี่ย ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงหลักวิชานิเทศศาสตร์ นอกจากทฤษฎี 3 ปีแล้ว เรียนปฏิบัติแค่ปีเดียวเนี่ย ตอนนี้มันกลายเป็นว่าเวิร์กชอปปี 2 แล้วถามว่าเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม ผมว่าเด็กเรียนรู้ทันแล้วมันเข้าถึงง่าย แต่สิ่งที่น้องยังขาดอยู่ ผมว่าการ Define การค้นหาข้อมูล คือเราพึ่งพาการเติบโตด้วยโลกของ Social เป็นหลัก น้องจะเข้าใจว่าการหาข้อมูลโลก Social มันได้หมด แต่ว่าจริง ๆ แล้ว แหล่งข่าว หนังสือ วรรณกรรม ทุกอย่างมันสามารถถ่ายทอดออกมาในการหาคำแปลหรือการเล่าเรื่องได้ เด็กรุ่นใหม่ก็เลยยังติดกับการที่ทำลักษณะงานเป็นงานเชิงเดี่ยวเป็นเส้นเดียว แต่ถามว่าพวกเขาการปรับตัวในเวลามาทำงานในองค์กรจริง ๆ ภายใน 5-6 เดือนเขาปรับตัวได้เร็วมาก แล้วก็เรียนรู้ในสิ่งที่เขาก็สามารถอธิบายได้ว่ามันง่ายขึ้น ผมว่ามันได้เร็วกว่าเดิมครับ เวิร์กชอปมันง่ายขึ้น

แล้วสิ่งที่เป็นจุดเด่นในนักข่าวรุ่นใหม่ คืออะไร?

สิ่งหนึ่งเหรอ เท่าที่ผมเห็นก็คือไฟนะ เขาได้ลงพื้นที่ที่ได้ทำอะไรในสิ่งที่มันก็เหมือนทุกยุคทุกสมัยนี้ มันถามว่าความคาดหวังจริง ๆ พี่ว่ามันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนะ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดว่า ผู้หญิงเข้ามาทำงานมากกว่าผู้ชาย แต่นี่มันเป็นผลพวงหลาย ๆ อย่างมากกว่า แต่คำถามว่ามันไม่ได้มีอะไรที่เป็นแรงจูงใจใหม่มาก

ทำข่าวเริ่มต้นครั้งแรกที่พี่ทำข่าว อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่มาทำข่าว?

คือจริง ๆ เดิมทีพี่ พี่เล่าก่อนนะครับ เดิมทีพี่เรียนวิศวะ โทรคมนาคมแล้วก็เกิดอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์ แล้วมันทำให้เราไม่สามารถเรียนต่อได้เกือบปีแต่ว่าด้วยโควตาที่เราเป็นนักกีฬาเนี่ย เราก็เลยโอนย้ายมาอยู่ที่มหาลัยกรุงเทพ อันนี้ต้องยอมรับว่าสภาพแวดล้อมของที่บ้านก่อน เพราะที่บ้านรู้จักสื่อสิ่งพิมพ์หลายช่องมีผู้ใหญ่ และเด็ก ๆ เราเองก็วิ่งเล่นอยู่ที่ประชาชื่นบ่อยเพราะฉะนั้นเนี่ย มันก็เลยในเมื่อเราอยากทำตรงนี้ เราก็เลยมาเรียนนิเทศศาสตร์ และก็เริ่มฝึกงานที่มติชนที่แรก ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้น แล้วก็เผลอได้อีกในช่วงรอยต่อมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ครบรอบ 30 ปีนิเทศศาสตร์ เราก็ได้เป็นบรรณาธิการบริหาร ก็เลยทำบรรณาธิการบริหาร ตอนปี 4 เวิร์คช็อปเป็นช่องนึงเลย อยู่ในทีวี ไม่รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ท่านใดมาเห็น พอเรียนจบแล้ว ทาง ITV ตอนนั้นกำลังจะเป็น TITV อยู่ตอนนั้นก็เรียกเข้าไปทำงาน นั่นคือจุดเริ่มต้น

พอได้ไปทำงานที่ ITV แล้วสิ่งแรกที่เจอ?

ร้องไห้เลย เพราะว่าตอนนั้นเราทำสารคดี 1 ชั่วโมง เราก็เป็นฟิวส์ ทีแบบว่าฉันยังไม่เคยทำสกู๊ป 5 นาทีเลย แค่สกู๊ป 5 นาทีในวิชาเรียน กับ 5 นาทีในชีวิตจริงมันต่างกันมากนะ คือ 5 นาทีในวิชาเรียนคือคุณสามารถ make ได้ cut shot ได้ ถ่ายซ่อมได้ แต่ 5 นาทีของคุณที่ต้องถ่ายนักการเมืองแค่เดินแล้วคุณต้องจับประเด็นให้ได้ ยังไม่ได้ทำเลย วันนั้นมาแล้วอยู่ดี ๆ ลงมาปุ๊บเข้ารายการเปิดปมเลย ซึ่งเป็นสารคดี 1 ชั่วโมง วันแรกมีร่วงเลย 2-3 เดือนแรกยอมรับว่ามีความกังวล เครียด ปรับตัวไม่ได้ ไม่รู้จะเล่าอะไร ไม่รู้ว่าจะทำยังไง ไม่รู้ต้องเขียนเส้นเรื่องแบบไหน แล้วก็พี่ทุกคนก็ด้วยความที่เปิดปมเนี่ย มันเป็นรายการสารคดี คือหมายถึงว่าทุกคนแข็งแรงอยู่แล้วไง พวกเขาก็จะแบบว่ามีเส้นทางการนำเสนอของเขาเอง ส่วนเราเป็นเด็กใหม่แบบเพียวเลย ตอนนั้นแรงกดดันมาทุกด้าน แทบจะพัง ตอนนั้นแบบ อารมณ์วัยรุ่นเลย จะออกเลย แล้วก็อยู่รอดมาได้

อะไรที่ทำให้อยู่รอดมาได้?

ต้องยอมรับว่าสภาพแวดล้อมของพี่ในสังคมกลุ่มนั้นดีมากนะ เขาดูแลเราตลอดเวลา พยายามไดร์ฟเรา พยายามทรีตเรา พยายามสอนเรา ไม่ยอมให้เราหลุดออกไปอะไรอย่าง อันนี้คือนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรายืนหยัด

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้พี่เก่งกาจในเรื่องสารคดีเชิงข่าว คืออะไร?

มันจะไม่ได้เรียกว่าเก่งกาจอะไรหรอกครับ มันมีความชอบของเรา ต้องยอมรับว่าเราได้ทำงานกับพี่หลาย ๆ คนที่เก่งเรื่องนี้มาก แล้วก็ต้องยอมรับว่าตอนนั้นองค์กรของ Thai PBS เปิดโอกาสให้เรียนรู้ ก็คือมันมีสำนักข่าวจากต่างประเทศมาสอน ให้ลองไป training ทำนู่นทำนี่ เราก็จะรู้วิธีการทำ Mind Map ของสารคดี และเราก็รู้เลยว่าการทำสารคดีแต่ละชิ้น มันต้องทำด้วยอะไรยังไงนะครับ สุดท้ายต้องยอมรับว่า Project ในการผลิต งานหนึ่งชิ้นของ Thai PBS  สิ้นปีมันจะเป็นเหมือนเป็นงานพรีเมี่ยม เราก็ต้องทำ ผู้หลักผู้ใหญ่เขาจะเห็นว่าเราเหมาะสมกับงานชิ้นไหน เขาจะเลือกเราไป

มันไม่ได้เรียกว่าเก่งกาจนะ มันเรียกว่าทำสารคดีได้ (หัวเราะ) อย่าเรียกว่าเก่งกาจ เก่งกาจในกลุ่มสารคดีมันมีหลายแบบ สารคดีเชิงข่าวมันเป็นกลุ่มสารคดีที่เขาเรียกว่า Production มันง่ายสุด มันจะมีสารคดีที่เป็นลักษณะแบบภาพยนตร์สารคดี สารคดีที่ถ่ายในลักษณะ Fiction หรือ Non Fiction แบบนี้ครับ อันนี้มันมีหลาย Level นะ อย่าเอาไปเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มสารคดีเป็นชุดเดียวกัน

อะไรคือหัวใจสำคัญของการทำสารคดีเชิงข่าว?

คือสำหรับผมแล้วตัวข่าวมันจะถูกสร้าง Content ใคร ทำอะไร ที่ไหน วันนี้ก็เล่าแค่ของเมื่อวานอะไรอย่างนี้ สำหรับผมยังให้ความสำคัญของสารคดีเชิงข่าวคือมันก็เล่าบริบท คือถ้าจะ Content is King แล้วเนี่ย Present is God เนี่ย บริบทแมร่งก็คือพระเจ้า อันนี้ผมมองว่าถ้าสารคดี 1 ชิ้นงานที่มันจะอธิบายทุกอย่างได้ มันก็อธิบายได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นเนี่ยถามว่าสารคดีทำไมเรายังทำอยู่ เหตุผลของช่องเอง หรือนโยบายของผู้หลักผู้ใหญ่เอง คือเราก็ต้องการอธิบายข่าวให้ครบทุกปรากฏการณ์ ไม่ใช่แค่เอาปรากฏการณ์นั้นมาอธิบาย แล้วก็จบไปวัน ๆ เราแค่จะอธิบายว่าเพื่อให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลง ตอบปัญหาของสังคมแต่ละเรื่องให้ได้ว่า มันเป็นเพราะอะไร ทำไม ตรงนี้มันยังมีปัญหา คือโจทย์หลักของสารคดีที่ทาง PPTV ยังยืนเรื่องนี้ไว้อยู่

ช่วงที่ทำสารคดีเชิงข่าวครับ หัวข้อหรือประเด็นไหนที่รู้สึกว่า ทำยากที่สุดแล้วมันสำเร็จ?

เอาจริง ๆ ถ้ายากที่สุดอย่างที่ผมพูด ก็คือเรื่องของนโยบายของรัฐนี่แหละ อย่างที่บอกกลับไปเบื้องต้นก็คือ ด้วยผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านก็ไม่อยากจะพูด แล้วในเรื่องของ Data จากของหน่วยงานรัฐบาลเองก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้เห็น 100% มันไม่ทำให้เราสามารถที่จะเข้าไปหา content ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการทำข่าวทุจริตคอร์รัปชันเป็นสารคดีครึ่งชั่วโมง ค่อนข้างจะเหนื่อยมาก มันก็มีเหตุการณ์ที่เกิด

อีกสิ่งที่มันอันตรายที่สุดก็คือว่าเมื่อรัฐบาลหรือว่าหน่วยงานคนที่ผู้มีอำนาจครอบคลุมบทบาทใหญ่ทั้งหมดเนี่ย ชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดที่เป็นเสียงเบา ๆ เนี่ยบางทีเราก็ไม่สามารถจะไปไดร์ฟกับเขาได้ บางทีเขาให้เอกสารเราได้ แต่ว่าเราจะเอาเขามาเดินเรื่องไม่ได้ เดินเรื่องเมื่อไหร่ปุ๊บโดนแล้ว อันนี้เป็นสารคดีที่ยากจริง ๆ ในเรื่องของทุจริตคอร์รัปชัน

แล้วพูดถึงเรื่องของอำนาจรัฐครับผม การแทรกแซงสื่อจากอำนาจรัฐตอนนี้มันยังมีอยู่ไหม?

คือจริง ๆ ทุกยุคทุกสมัยมันมีเหมือนเดิมนะครับ แต่ไม่ได้มีการพัฒนา ไม่ได้มีการแทรกแซงแบบใหม่หรืออะไรเลย มันยังเป็นโมเดลเดิมหมด ถามว่าเราอยู่และปรับตัวได้อย่างไร อย่างที่บอกไม่ใช่เป็นมวยฮุกตลอด ต้องเป็นมวยแย็บ รู้ว่าจังหวะการเล่นต้องเล่นตรงไหน ต้องทำอะไร แล้วสมาคมนักข่าวเราเองหรือสมาคมสื่อมวลชนมันก็มีหลายหลายเวทีตรงนี้ ค่อนข้างจะแข็งแรง คือมีร่มที่ค่อนข้างจะคุมเราอยู่ ผมมองว่าการคุกคามสื่อเป็นทุกยุคทุกสมัยและเป็นทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นปประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างอเมริกา ประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ของจีน อย่าง CCTV อย่างนี้คือมันเป็นปกติ

มีคนบอกมาว่า เวลาที่สื่อทำอะไรผิด สมาคมสื่อจะเป็นแค่เสือกระดาษ จริงไหม?

อันนี้จริง คือมันต้องยอมรับว่าความ unique การแข่งขันสื่อเนี่ย คือ nature หลัก มันก็แค่อธิบายปรากฏการณ์ สืบสาวราวเรื่อง เจาะหา แก้ไข สะท้อนปัญหาสังคม ตรวจสอบคอร์รัปชันหน่วยงานรัฐ แต่ปัจจุบันสื่อกลายเป็นเครื่องมือหนึ่ง มันถูกวัดด้วย Rating เพราะฉะนั้น 20 ช่อง มันก็จะมีพฤติกรรม 20 แบบ เขาทำแล้วเขาได้ Rating สมาคมบอกว่าฉันต้องทำตาม จรรยาบรรณ ห้ามฉาบฉวยอย่างนี้ แต่เขาทำแล้วมันได้ Rating แล้วมันมีโฆษณาเข้ามา มันคือการอยู่รอด ถ้าถามว่าความแทรกแซงของรัฐ ผมว่ายังน้อยกว่าการแทรกแซงของทุน อันนี้ยังพูดยากกว่า

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนจากไทยพีบีเอสมาที่ PPTV ได้?

คือมันต้องยอมรับว่ามันมีอยู่วันหนึ่ง มันก็มีการอิ่มตัวนะครับ เราได้เรียนรู้จากองค์กรที่ถือว่าเป็นปฐมบท แล้วทุกคนต้องมาผ่านสนามนี้ให้ได้ พอวันที่ทีวีทุกอย่างมันขยายหมด ก็ต้องยอมรับว่ามีการเชิญชวนจากผู้หลักผู้ใหญ่นะครับ แล้วก็เราก็มองว่า gender ตรงนี้เราอยู่ในลักษณะเป็น Public service (องค์กรบริการสาธารณะ) มานานละ ถึงเวลาที่เราจะอยู่ในกลุ่มลักษณะแบบต้องแข่งขัน ต้องอยู่กับนายทุน ต้องสู้กับเรื่องแบบนี้ไหม มันก็เลยกลายเป็น Nature ว่าลองขยับตัวเองออกมา

ถามว่าตอนแรกยากไหม ยาก ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาบริหารอะไรขนาดนี้ ไม่ต้องมานั่งดูเรื่องต้นทุน ไม่ต้องมานั่งคุมคน ไม่ต้องมานั่งอะไร แต่ถามว่าด้วยความเติบโต มันต้องเรียนรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ถามว่าการก้าวกระโดด ต้องยอมรับว่าเราตอนนั้นก็กลัวนะ กลัวว่าเราออกจากร่มที่เรายืนอยู่ เราจะทำได้จริง ๆ หรอวะ ยังต้องทำเรื่องแบบนี้ได้อยู่หรือเปล่าวะ ต้องทำข่าวสไตล์ที่เราเป็นอยู่ตอนนี้หรือเปล่าวะ ตอนนั้นคิดอย่างนั้น แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว

ก็ต้องยอมรับว่าผู้ใหญ่ตอนที่เรามาคุยเขาก็เปิดโอกาส ว่าฉันยังอยากได้แบบนี้ อยากได้สารคดี ฉันอยากได้ข่าวที่พวกคุณเคยทำกันมา เพราะทีมผมไม่ได้มีแค่ผมคนเดียวนะ มันยังมี 5-6 คนที่เรายังอยู่ด้วยกัน เราก็ดีใจว่าพอผู้ใหญ่เปิดรับปุ๊บ เราก็เลยทำ Proposal ก็เลยโยนนี้ ๆ ไป ทำตามในสิ่งที่เราคิดว่ามันถูกต้อง สู้ในสิ่งที่เราคิดว่ามันใช่ เราทำอย่างนั้นมากกว่า

แล้วพอมาเป็น PPTV ยากง่ายอย่างไรในการปรับตัวหรือว่าทำงานข่าว?

คือมันมี 2 เมเจอร์นะครับ มันมีการผสมระหว่างคนเก่า คนใหม่ คนเก่าอยู่แล้วคนใหม่มาเราก็ต้องมานั่ง Disrupt กันใช่ไหมครับ แล้วตอนนั้นมันก็มีการปรับตัวเรื่องของเทคโนโลยี คือ เมื่อก่อนมันเป็น analyst digitized ภาพ แต่ตอนนี้มันเป็น digital คุณต้องแก้ยังไง หรือว่าวิธีการทำแบบไหน

นอกจากนั้นความเข้าใจ คือเมื่อองค์กร ตอนนั้น PPTV ก็ไม่ได้เป็นแค่ช่องเดียว เป็นทุกช่องเลย คือคนเก่ามันอยู่แค่กลุ่มเดียว 6 ช่อง พอตอนมี 26 ช่องปุ๊บ มันกระจาย เราเลยต้องรับเด็กรุ่นใหม่ การเกณฑ์เด็กรุ่นใหม่มาเนี่ย สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยคือความเข้าใจ จะพูดถึงเด็ก ต้องนึกถึงผมถึงสมัยตอนที่เข้างานใหม่ ๆ อยากลาออก แล้วมีอย่างนี้ 20 คน ต้องรับแรงกระแทกกับเด็กเหล่านี้ ต้องอธิบาย แล้วด้วยจริตของน้องเด็กรุ่นใหม่ ความสบายเขามีอยู่ในตัวอยู่แล้ว เขาก็จะไม่เข้าใจโมเดลของข่าว

แต่ถามว่าตลาดข่าวตอนนั้นมันบูม มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องรับคนนิเทศศาสตร์ ตอนนั้นเปิดรับหมดเลย นี่แหละมันคือการเปลี่ยนแปลงที่ต้องสู้ ส่วนในเรื่องของ Content บอกแล้วไม่มีปัญหา PPTV มีผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เต็มที่ในการสืบเสาะ ค้นหา การขยาย ขยี้ประเด็นที่เราทำอยู่ในแบบที่เราเคยเป็น เพราะฉะนั้นผมไม่ได้ติดตรงนี้เลย เพราะฉะนั้นติดในเรื่องของความเข้าใจ การสร้างงานมากกว่า

ในฐานะที่พี่ก็เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง มีความยากง่ายหรือต้องต่อสู้กับ Fake News ยังไง?

ก็อย่างที่บอกนะครับ ข่าวเราต้องไปถึงที่เป็น date data J ให้ได้ คือ Fake News มันคงทำอะไรเขาไม่ได้หรอก มันเป็นการฉาบฉวยอยู่แล้ว ผมบอกเลยว่า ถ้าย้อนกลับไปเรื่องเสือกระดาษนะครับ คือ Fake News ถ้าเขาทำได้เขามียอดไลก์เนี่ย หมายความว่ามันก็จะมีสปอนเซอร์เข้า อันนี้ก็ต้องยอมรับ มันคือการอยู่รอดของทุนน่ะ อันนี้หนีไม่ได้ เมื่อเครื่องมือมันอยู่ใกล้ตัวเรา ทุกอย่างมันทำได้หมด

ถ้าจะเรียก Fake News หรือข่าวฉาบฉวยว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ได้ คือ Fake News ผมเชื่อว่าถ้าข่าวเราอธิบายได้ Content ที่ถูกต้อง และสื่อหลักอธิบายหลักการเดียวกัน ผมว่ายังไง Fake News ก็พัง แต่ข่าวแบบฉาบฉวยอันนี้พูดยาก ทุกช่องมีจริตของตัวเองอยู่ ไม่มีทางที่จะมาบอก อย่างศิลปินนะครับ อยู่ในค่ายเพลงกลุ่มเดียวกัน ทุกวงดนตรีก็จะมีคาแรคเตอร์ เพราะฉะนั้นมันพูดไม่ได้หรอก

อะไรคือหัวใจสำคัญของการอยู่รอดของสื่อมวลชนที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัย?

คือสิ่งหนึ่งที่สำคัญคืออุตสาหกรรมสื่อมันถูกเร่งรัดไป เพราะฉะนั้นเรื่องข่าวฉาบฉวยมันถึงมา Rating มันเลยมา เสือกระดาษมันถึงมา แต่ผมเชื่อว่าการอยู่แบบ Long Term คือการสร้างให้ช่องเป็นมาตรฐานให้คนจดจำ และมีความน่าเชื่อถือ ทุกวันนี้ PPTV ทำได้ระดับหนึ่งแล้วล่ะ นึกถึงภาพภัยน้ำท่วม ภัยพิบัติ ภัยแล้ง ทุกคนก็ต้องนึกถึง PPTV ถามว่าตรงนี้ผมวัดได้จากอะไร คือว่าสิ่งสำคัญตอนนี้เวลาเราได้รับการร้องเรียนเรื่องเหล่านี้จะเข้ามาหา PPTV เยอะมาก ไม่ว่าจะเรื่องมลพิษ เรื่องขยะ คือสำคัญนะ

แต่ผมว่ามันจะช้ากับการตลาดนักธุรกิจ เราต้องแบ่งตัวให้ทันน่ะ หนึ่งก็ต้องฉาบฉวยให้เป็น ฮุกให้เป็น แย็บใหถูก สองสำคัญสุดคือคุณต้องสร้าง Uniform ของข่าวให้ช่องเราเป็น Standard เป็นที่น่าเชื่อใจ สามคุณต้องสร้าง engagement กับชุมชนว่าชุมชนแถวนี้มีปัญหาอะไร ให้นึกถึง PPTV นี่คือแวดล้อมว่าทำไมสื่อถึงจะอยู่รอดได้

PPTV หลังจากที่คนไว้วางใจ เป็นยังไงบ้าง?

ถามว่าความไว้วางใจที่เขาให้เรามาเนี่ย มันก็เป็นแรงกดดันว่าเราก็ต้องขยายขยี้ประเด็นให้เพิ่ม เมื่อก่อนเราทำแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว เรื่องขยะที่จุดเดียว มันก็ต้องมาคุยกันอีกทีว่าเรามาพูดถึงขยะทั้งประเทศไหม จะต้องทำอะไรที่มันเป็นการเจาะเชิงนโยบาย ไม่ใช่พูดแต่รากหญ้า มันก็ต้องเล่นที่หัว ที่นโยบายให้ได้ ตรงนี้มันจะทำยังไงมันถึง อันนี้ก็เป็นแรงจูงใจที่ว่าจะทำยังไงต่อ เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเราสามารถต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือสามารถพูดคุยเรื่องของระบบโครงสร้าง Structure ได้ และเห็นได้เด่นชัดกว่าที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ อันนี้คือหัวใจที่เราต้องไปต่อ

มีอะไรอยากฝากให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ที่กำลังเข้ามา?

คือในมุมมองของเด็กทุกคนที่ก้าวเข้ามาวันแรกที่เข้านิเทศศาสตร์ ผมว่าเขามีมุมมองที่เขามีความเป็นตัวเองอยู่แล้วนะครับ ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าเนี่ย ด้วยเด็กที่ว่ามีความเป็นเพียวด้วยนะ มันก็จะมีความสามารถสืบค้นหาข้อมูลได้ เหล่านี้เนี่ยผมว่าความตั้งใจของมีสูงอยู่แล้วล่ะ อันนี้คงไม่ได้ไปฝากอะไรให้เขาเยอะมาก ไม่ได้บอกว่าเข้ามาแล้วน่ากลัว ต้องท้าทายอะไร ๆ ทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่ามันคืออาชีพหนึ่ง ถ้าเขามองว่าเขาพร้อมที่จะเป็นคนมาต่อสู้ มาต่อสู้ต่อปากเสียงของรัฐบาล ต่อสู้เพื่อชาวบ้านตาน้อย ๆ ผมว่าตอนนี้เขาน่าจะมีแรงจูงใจตั้งแต่ปี 1 ที่เขาเริ่มเริ่มก้าวเข้ามาในวิชาชีพนี้ล่ะ

อยากจะฝากอะไรถึงคนดูข่าวไหมครับ?

จริง ๆ มันพูดยากนะ คนดูข่าวปัจจุบันช่องทางการสื่อสารมันมีเยอะมาก ผมว่าเรื่องนี้มันก็พูดยากอยู่ดีครับ (หัวเราะ) อันนี้น่าจะฝากคำถามทิ้งว่า เมื่อข่าวมันหลายบริบท มันมีการสื่อสารหลากหลายช่องทาง คุณจะเปรียบเทียบคอนเทนต์อย่างไรให้เข้าใจบริบทของทั้งหมด อันนี้มันอยู่ที่การไตร่ตรองและการนำพา ทุกคนจะบอกว่าสื่อเป็นคนชี้นำ มันไม่ผิดครับ เพราะสื่อทุกช่องทำหมดแหละ ของใครของมันเพราะเราต่างมีคาแรกเตอร์ของแต่ละช่อง แต่คนดูนี่แหละต้องนำไปกรองและตัดสินใจว่าสิ่งที่มันมีจริงเท็จแค่ไหน? สิ่งที่เราเล่าอยู่มันผิดหรือถูก สิ่งที่เราทำอยู่เนี่ยโอนเอียงหาใครหรือเปล่า? อันนี้ผมว่ามันอยู่ที่วิจารณญาณของคนดูทุกคน


ภาพนิ่งและวีดีโอโดย : พัฒนพงศ์ เชื้อทอง , ณัชธนัท จุโฬทก , กฤษดา บุญทอง
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย : กฤตนัน ดิษฐบรรจง
แกะเทปโดย : Nok Kanokon