fbpx

ถือว่าเป็นเวทีที่คนทำสื่อ คนเสพสื่อ และคนที่อยู่ในวงการสื่อต้องอ่านกันเลยทีเดียว เพราะ The Standard นำเรื่องภูมิทัศน์สื่อหลัง COVID-19 ขึ้นมาบนเวที The Standard Economic Forum ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นมาเมื่อวันที่ 29-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี่เอง โดยครั้งนี้ส่องสื่อได้มีโอกาสรับชมแบบ Virtual Conference ด้วย และสรุปหัวข้อที่คนเสพสื่อ คนทำสื่อ และคนในวงการสื่อต้องรู้มาให้ครบถ้วนหมดแล้ว ใครอยากอินเทรนด์ต้องอ่าน!

พฤติกรรมเปลี่ยน แต่คอนเทนต์จะเข้าไปอยู่ในทุก ๆ ที่

เริ่มต้นเวทีด้วยการเปิดประเด็นสื่อทั้งในส่วนของเม็ดเงิน และเทรนด์ของสื่อกับ “อาภาภัทร บุญรอด” ประธานกรรมการบริหาร Kantar Insight ประเทศไทย กันก่อนเลย โดยคุณอาภาภัทรได้พูดถึงประเด็นสำคัญๆ ดังต่อไปนี้

ทีวียังคงเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือสำหรับคนไทย

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลทำให้คนยังเลือกที่จะกลับมาเสพสื่อผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ โดยการสำรวจของ Kantar ค้นพบว่าในช่วง Lockdown เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการดูโทรทัศน์เป็นประจำมากขึ้นถึงร้อยละ 49 และค่อยๆ ลดลงในช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นร้อยละ 39 และ 37 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้คนกลับมาดูทีวีมากขึ้น เนื่องจากมีคอนเทนต์ที่เขาค่อนข้างคุ้นเคย และเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือสำหรับคนไทยอยู่แล้ว

คนไทยใช้เวลากับ Social Media มากขึ้น แต่กระจุกตัวใน Main Platform เท่านั้น

สื่อออนไลน์กลายเป็นสื่อที่โดดเด่นมากขึ้น เพราะจากการสำรวจของ Kantar พบว่าคนไทย “เหงา” มากขึ้นจากช่วง Lockdown จึงทำให้ Social Media กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงพบเลยก็คือคนไทยยังกระจุกไปที่ Main Platform เป็นหลัก โดยเฉพาะ Facebook (ร้อยละ 70) , Line (ร้อยละ 69) , YouTube (ร้อยละ 77) โดยเหตุผลเป็นเพราะว่า Online สามารถให้ทั้งความรู้สึกและการเชื่อมต่อไปหาหลายๆ คนได้นั่นเอง

Media Trends จาก Kantar ที่ทุกคนต้องเอาไปใช้!

พูดถึงสถานการณ์ของสื่อโดยรวมแล้ว จะไปพูดเรื่อง Media Trends เลยก็คงไม่ได้ ฉะนั้นวันนี้เรามาสรุปกันให้อ่านว่า Media Trends ของปีนี้ในช่วง COVID-19 จะมีอะไรกันบ้าง? Kantar เขาทำสรุปมาให้แล้วครับ!

Online is the New Normal

เนื่องจาก Online นั้นสามารถทำให้เกิด interactive ได้ ไม่ว่าจะเป็นการ Like , Comment หรือ Share แม้กระทั่งอื่น ๆ ก็ทำให้มอบความรู้สึกใหม่ๆ ได้มากขึ้นด้วย ซึ่งสุดท้ายก็ทำให้ Online หรือ Internet กลายเป็น mainstream ไปในที่สุด

Voice is the future

เพราะ Podcast เข้ากับ Lifestyle ของคนมากกว่า เนื่องจากสื่อแบบเสียงมีความเป็นมนุษย์มากกว่า เหมือนมีคนมาพูดข้างๆ เรา และยังทำให้โฟกัสกับความรู้ได้ดีกว่าการดูคลิปวีดีโอ หรือ Online Video ที่ต้องดูด้วย ฟังด้วย นอกจากนี้ยังเข้ากับบริบทของคนไทยที่ไม่ค่อยนิยมอ่านหนังสือ เนื่องจากต้องใช้เวลาจดจ่อมากกว่าการฟัง Podcast นั่นเอง โดยจากการสำรวจของ Kantar พบว่าคนฟัง Podcast เป็นประจำมีมากขึ้นถึงร้อยละ 49 ในช่วงการสำรวจวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานั่นเอง และผลสำรวจโดยรวมยังค้นพบว่ามีคนฟัง Podcast มากขึ้นร้อยละ 38 ซึ่งถ้าเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ ยังถือว่าค่อนข้างสูงขึ้นอีกด้วย

Online Video will be the king of content

แต่ก็ไม่ใช่ว่า Online Video จะไม่สำคัญสำหรับเราเสมอไปนะครับ เพราะ Kantar ระบุออกมาอีกว่าจะมีการใช้งาน Online Video ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับคนดูอยากได้คอนเทนต์ที่หลากหลายขึ้น ทำให้ในอนาคตอันใกล้จะมีคอนเทนต์ที่เป็นวีดีโอเพิ่มขึ้นมาก โดยจากการสำรวจพบว่าคนไทยดูวีดีโอเป็นประจำอยู่ที่ร้อยละ 71 เลยทีเดียว นอกจากนั้นผู้คนยังต้องการที่จะ Customize Video มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของ Live Video เริ่มจะอิ่มตัว แต่ยังต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของคนดู และความแปลกใหม่ของคอนเทนต์ด้วยเช่นกัน

Virtual จะเกิดมากขึ้น

เนื่องจากคนไทยห่วงใยสุขภาพมากขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันโอกาสที่จะไปติดเชื้อจากการร่วมงานต่าง ๆ โอกาสที่จะเกิด Virtual หรืองานที่เกิดบนออนไลน์จะมีเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Virtual Conference , Virtual Concert เป็นต้น

Educational Ads จะเกิดมากขึ้นเช่นกัน

เนื่องจากช่วง Lockdown คนไทยปรับตัวในการหาความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร สุขภาพ หรือการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี ทำให้โฆษณาในคอนเทนต์ที่เป็นการศึกษามีมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องแนบเนียนไปกับคอนเทนต์ เพื่อไม่ทำให้คนอึดอัดเช่นกัน

Home Entertainment กำลังมาแรงแซงโค้ง!

เพราะความสุขของคนไทยได้ถูกนิยมขึ้นใหม่ด้วยคำว่า “ความสุขเล็ก ๆ ที่มีนิยามมากขึ้น” เลยทำให้คนสนใจที่จะใช้ Home Entertainment เป็นสื่อสร้างความสุขมากขึ้น จะเห็นได้จากกรเกิดกระแสต่าง ๆ ทั้งเกมส์หรือปาร์ตี้ในรูปแบบ Home Entertainment อื่น ๆ รวมไปถึงผลสำรวจของ Kantar ก็ค้นพบว่าร้อยละ 33 ต้องการที่จะใช้ Home Entertainment เพื่อปฏิสัมพันธ์กับญาติ หรือเพื่อน ๆ นั่นเอง

TV & Internet คือสิ่งที่แบรนด์ยังควรโฟกัส!

Kantar ยังแนะนำเพิ่มเติมด้วยว่า TV และ Internet ยังเป็นสื่อที่แบรนด์ควรโฟกัส เนื่องจากเป็นสื่อที่ผู้คนใช้กันทั่วไป และมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด ซึ่งจริง ๆ แล้วสื่อแต่ละประเภทจะให้คุณค่าต่อแบรนด์ที่ไม่เท่ากัน อย่างสื่อโทรทัศน์จะให้การมองเห็นที่มากกว่า (ร้อยละ 36) ในขณะที่ Social Media ให้ในเชิงการรวมตัว การพบเจอ หรือการพูดคุยกันมากกว่า (ร้อยละ 36) ฉะนั้นถ้าแบรนด์เลือกจะใช้ TV และ Internet ไปพร้อม ๆ กัน ก็อาจจะทำให้เกิด Impact มากที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นกับแบรนด์เช่นเดียวกันว่าจะปรับใช้ยังไงบ้าง?

Agile อยู่ในทุก ๆ ที่

ท่านต่อมาที่จะมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับ Media Landscape นั่นก็คือ “ภวัต เรืองเดชวรชัย” ผู้อำนวยการธุรกิจ สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด ซึ่งคุณภวัตได้พูดถึงเม็ดเงินโฆษณาในแต่ละธุรกิจ รวมไปถึง “Mass Media ได้หายไปนานแล้ว” ได้น่าสนใจมาก ๆ โดยเราสรุปมาให้ติดตามกันแล้ว อ่านโลดครับ

TV และ Internet คือผู้นำในสื่อโฆษณา

จากข้อมูลที่ทาง MI ทำออกมาจะพบได้ว่า ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 นั้น สื่อที่เป็นผู้นำในเรื่องของเม็ดเงินโฆษณาหลัก ๆ ก็คือ TV , Internet และ Out of Home Media ซึ่งทำให้ 3 กลุ่มนี้มีผลต่อการตลาดมากเช่นเดียวกัน แต่หลังจากเกิดการ Lockdown ขึ้น สื่อที่ได้รับผลกระทบในแง่บวกจะมีเพียงสื่อโทรทัศน์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และสื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40  ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าหลังสถานการณ์ COVID-19 จะมียอดการใช้สื่อโทรทัศน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 สื่อออนไลน์ร้อยละ 25 ส่วนสื่อนอกบ้านจากที่ลดลงร้อยละ 30 ในช่วง Lockdown ก็จะลดลงเหลือร้อยละ 15 แต่ในขณะเดียวกันสื่อนอกบ้านก็จะมีอัตราการเติบโตเรื่อย ๆ และสื่อวิทยุมีอัตราลดลงร้อยละ 5 สำหรับภาพยนตร์จะลดลงถึงร้อยละ 60 เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพสำหรับการชมภาพยนตร์ที่ทำให้จำนวนคนชมต่อรอบลดน้อยลง

เงินโฆษณาปีนี้จะลดลงร้อยละ 15

อ่านไม่ผิดครับ… ลดลงร้อยละ 15 แน่นอน โดย MI เปิดเผยข้อมูลว่าในช่วง 4 เดือนของปี (มกราคม-เมษายน 2563) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้สื่อโฆษณาติดลบร้อยละ 10.9 โดยลดไป 3,118 ล้านบาทเลยทีเดียว และพอรวมทุกสื่อเข้าด้วยกันจะพบว่าสื่อโทรทัศน์มีอัตราการลดลงของการลงเม็ดเงินสื่อเหลือไม่ถึงร้อยละ 50 (ร้อยละ 47.8) ในขณะที่สื่อออนไลน์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2

ทั้งนี้จากการคาดการณ์จะพบว่า ตลอดทั้งปี 2563 การลงเม็ดเงินกับสื่อจะลดลงร้อยละ 15 ซึ่งจะเกิดจากสื่อที่ไม่ใช่ Internet โดยในส่วนของสื่อโทรทัศน์จะมีเม็ดเงินตลอดทั้งปี 2563 อยู่ที่ 39,891 ล้านบาท และจะเทไปที่สื่อออนไลน์ซึ่งคาดการณ์อยู่ที่ 22,196 ล้านบาท

สำหรับเทรนด์ในการใช้สื่อ ยังคงเป็นสื่อโทรทัศน์เป็นทางหลักอยู่ โดยมีสัดส่วนการใช้สื่ออยู่ที่ร้อยละ 51.7 เกิดจากการที่คนดูหันมาดูโทรทัศน์มากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดจากผลกระทบของสื่อประเภทสิ่งพิมพ์ สื่อนอกบ้าน และสื่อภาพยนตร์ที่ไม่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นได้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับปิดท้ายของคุณภวัต ได้พูดถึงสิ่งสำคัญที่คนสื่อจะต้องจับตานั่นก็คือ “TV-Internet กลายเป็น Mainstream” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึง Mass Media คำนี้เองก็ถูกทำให้หายไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว อันเนื่องมาจากสื่อถูกแตกออกมาเป็นหลายๆ กลุ่มกันแล้ว

ฉะนั้น ใครยังพูดว่าทำยังไงให้ Mass เลิกพูดซะนะครับ

ใช้เงินให้เป็น และต้องขายของได้

อีกคนที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ และคนนี้เคยมาสัมภาษณ์ที่ส่องสื่อด้วย นั่นก็คือ “ศิวัตร เชาวรียวงษ์” นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่จะมาพูดในมุมมองของแบรนด์กันว่าสื่อดิจิทัลมีผกระทบอย่างไรบ้าง? ติดตามอ่านกันได้เลยครับ

ก่อนการเกิด COVID-19 ทาง DAAT ได้ร่วมกับ Kantar คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาในโลกดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้านี้ได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 13 แต่หลังการเกิดของ COVID-19 ทาง DAAT ได้ประชุมร่วมกันและปรับการคาดการณ์เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น

ซึ่งพอเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และเกิดการ Lockdown ขึ้น แบรนด์บางเจ้าก็เลือกที่จะหยุดการทำการตลาดชั่วคราวไปในทันที เนื่องจากสถานการณ์แย่ลงและคาดการณ์อนาคตได้ยาก ในขณะที่อีกบางเจ้าก็เลือกที่จะใช้การหยุดแคมเปญระยะสั้นไว้ แต่ยังลงคอนเทนต์และโฆษณาเหมือนเดิม และบางแบรนด์ก็เลือกจะใช้วิธีการลดขนาดเม็ดเงินและแคมเปญลง รวมไปถึงการปรับโฆษณาให้เหมาะกับสถานการณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งสินค้าบางประเภทไม่ได้รับผลกระทบในแง่ยอดขายแบบตรง ๆ แต่ได้รับผลกระทบในเชิงการทำการตลาดและโฆษณา

คำถามต่อมาคืออะไรที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่ยอดนิยมได้ ซึ่งสองสิ่งที่สำคัญจากการสำรวจของ DAAT และ Kantar นั่นก็คือ Data Analytics และ Content ควบคู่กัน  (ร้อยละ 97 และ 83 ตามลำดับ) ซึ่งถ้ามีการจัดเก็บและเลือกใช้ข้อมูล ประกอบกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดี ก็จะทำให้สามารถทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

ปิดท้ายเวทีด้วยคำพูดเตือนสติเจ้าของธุรกิจทั้งหลายที่ว่า

“ต้องแยกให้ออกว่าธุรกิจได้รับผลกระทบเพราะ COVID-19 หรือว่าเพราะ Digital Disruption กันแน่? ต้องมองให้ออกว่าเกิดจากอะไร”

และทั้งหมดนี้คือการสรุปจากเวทีที่มีความยาวมากกว่า 1 ชั่วโมง 40 นาที มาสรุปให้ทุกคนเข้าใจในระยะเวลาอันสั้น แต่ให้ข้อมูลที่ลึก เหมือนไปนั่งฟังเองเลย ยังไงอย่าลืมเอาไปปรับใช้กันนะครับ แล้วเจอกันใหม่ สวัสดีครับ