fbpx

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561
ในโอกาสนี้ส่องสื่อขอนำมาปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนและเผยแพร่ใหม่ เพื่อฉลองครบรอบ 2 ปีของบทความชิ้นนี้

ถ้าหากพูดถึงสถานพินิจสำหรับเยาวชนที่กระทำความผิด หลายคนอาจจะกำลังนึกถึงคำว่า “คุกเยาวชน” อยู่ใช่ไหม? แต่วันนี้เรากำลังจะพาไปพูดคุยกับผู้ที่มาเปลี่ยนแปลงคำว่า “คุกเยาวชน” ด้วยความเข้าใจและโอบรับเยาวชนที่กระทำความผิดมา อุทิศตนเองเพื่อเยาชนหลายร้อยคนเพื่อทำให้สังคมลดคำครหากับเยาวชนกลุ่มนี้ และส่งมอบเยาชนดีกลับสู่สังคมอีกด้วย คนนั้นก็คือ “ป้ามล” ทิชา ณ นคร นั่นเอง

ล่าสุด ส่องสื่อมีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับป้ามลในงาน “แสงแห่งโอกาส” ที่เป็นงานสรุปบทเรียนตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของ “ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก” ในการคืนเยาวชนดีสู่สังคม และพอได้ลองอ่านหนังสือในงานที่เป็นการสรุป 6 บทเรียนของการทำงานแล้ว ไม่ขอสัมภาษณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของการนำเครื่องมือที่ทุกคนได้ยิน สัมผัส อย่าง “สื่อโทรทัศน์ – สิ่งพิมพ์ – ภาพยนตร์” มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับใช้และเสริมสร้างอาวุธทางปัญญาแก่เยาวชนผู้กระทำความผิดด้วย เรามาลองไขเคล็ดลับกันดีกว่า

เครื่องมือและกลไกสื่อที่สร้างการคิด วิเคราะห์ของเยาวชนในบ้านกาญจนาภิเษก

เครื่องมือและกลไกที่บ้านกาญจนาหยิบมาใช้ คือการวิเคราะห์สื่อ หรือที่พวกเขาเรียกกันว่า “วิชาชีวิต” โดยการวิเคราะห์สื่อจะใช้เวลาเฉลี่ยอาทิตย์ละ 2 ครั้งๆละ 1 ชั่วโมง ใช้วิธีการแบ่งกลุ่มเจ้าหน้าที่ 1 – 2 คนต่อเยาวชน 10 – 15 คน

วิธีการวิเคราะห์สื่อ เริ่มต้นจากเยาวชนไปหาข่าวจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ เช่น ข่าวในประเทศ ข่าวต่างประเทศที่ตนเองสนใจ แล้วมาเล่าให้เพื่อนฟังอย่างน้อยคนละ 2 ข่าว ซึ่งในการนำเสนอข่าวของเยาวชนแต่ละคน เพื่อนอาจช่วยเสริมเพิ่มเติมได้ด้วย และเจ้าหน้าที่จะชวนกันคุยต่อยอด แลกเปลี่ยน เพื่อกลั่นนำเอาสาระจากข่าวที่เขาเล่าให้ฟัง แปรรูปเป็นต้นทุนชีวิตให้เยาวชน

สำหรับในช่วงวิเคราะห์ข่าวในแต่ละวันนั้น เจ้าหน้าที่จะอ่านข่าวและคำถามทั้งงานกลุ่มและงานเดี่ยวให้เยาวชนฟังก่อน 1 ครั้ง จากนั้นจึงให้เยาวชนจับคู่กันและรับข่าวไป ซึ่งในกรณีที่เป็นเยาวชนใหม่นั้นจะมีการจัดการเรียนรู้ที่เอื้อต่อเยาวชนที่ยังไม่เคยวิเคราะห์ข่าวมาก่อนด้วย หลังจากนั้นเยาวชนแต่ละคู่จะร่วมคิด ร่วมคุย และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาในการวิเคราะห์ด้วย เมื่อทำงานเสร็จและส่งแก่ที่ปรึกษาแล้วจึงจะปล่อยให้ไปทำงานเดี่ยวต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์วันละ 1 ข่าวเพิ่มเติมเข้ามาช่วยอีกด้วย โดยในบ้านกาญจนาเองก็มีการแบ่ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย

  1. ผู้รอด…บนความขาดพร่อง
  2. ความรุนแรงและอาชญากรรม
  3. พฤติกรรมและความรุนแรงทางเพศ
  4. ต้นทุนทางเลือก…ค่านิยม
  5. กระตุ้นความเป็นมนุษย์ สำนึกดี ใฝ่ดี
  6. การหลบหนีและผลลัพธ์ที่ตามมา ในส่วนนี้เยาวชนที่เข้ามาอยู่ใหม่จะวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องทุกวันใน 14 วันแรกที่เข้ามาอยู่ รวม 10 กรณีศึกษา
  7. ชมภาพยนตร์และร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมตอบคำถามหลังชมภาพยนตร์ ซึ่งจะจัดทุกวันพฤหัสบดี โดยจะจัดชมภาพยนตร์ในช่วงครึ่งเช้า ส่วนครึ่งบ่ายจะใช้การวิเคราะห์งานกลุ่มๆละ 3 คน ผ่านคำถาม 5 – 6 ข้อ หลังจากได้คำตอบแล้วจึงรวมกลุ่มใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนคำตอบ และวิเคราะห์ผ่านงานเดี่ยว 4 – 5 ข้อในช่วงสุดท้าย
  8. ตอบกระทู้เพื่อพัฒนาไปสู่กติกาในการใช้ชีวิตร่วมกัน กิจกรรมนี้จัดตามเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อมีเพื่อนหลบหนี หรือมีละครจากภายนอกาทำการแสดง

ทั้งหมดนี้ ที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ต้องอ่านผลงานของเยาวชนในความรับผิดชอบของตนเอง เพื่อดูพัฒนาการทางความคิดและการวิเคราะห์ข่าวของเยาวชน แก้ไขคำผิด ก่อนลงชื่อและรวบรวมไปยังป้ามลต่ออีกทอด นอกจากนั้นในบางข่าว บางกรณีศึกษาที่น่าสนใจจะนำไปติดบอร์ดต่อด้วย และมีการรวบรวมผลงานทั้งหมดรวบรวมเป็นเล่มเพื่อส่งต่อไปยังผู้ปกครองทุก ๆ เดือนอีกด้วย


หลังจากที่เรารู้จักเครื่องมือที่นำเอามาประกอบในการติดอาวุธทางปัญญาแล้ว ทีนี้เราจะขอมาพูดคุยกับป้ามลต่อการนำสื่อที่ทุกๆคนรับชม หรืออ่านกันทุกวันอย่าง “ทีวี – หนังสือพิมพ์ – หนัง” มาปรับใช้เป็นเครื่องมือติดอาวุธให้กับเยาวชนผู้กระทำความผิดกันบ้างครับ รวมไปถึงทัศนคติต่อเรื่องของสื่อที่มีผลต่อสังคมและเยาวชนด้วยครับ

สื่อในปัจจุบันนี้ส่งผลกระทบที่ทำให้เยาวชนประพฤติผิดบ้างหรือไม่?

จริงๆ ถ้าหากว่ามันไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ เลย ดูแล้วก็ใช้ต้นทุนเดิมของเด็กรับสื่อ รับเข้ามาแล้วก็จ่ายออกไป ป้าคิดว่าถ้าตรงไปตรงมาแบบนี้มีผลกระทบ ดังนั้น มันกำลังจะส่งสัญญาณไปถึงผู้ใหญ่ด้วยว่าถ้าเราไม่อยากเห็นความรุนแรงในเด็ก ไม่อยากเห็นความเสียหายจากการติดคุก จากการตายของเด็กและเยาวชน หน้าที่ของผู้ใหญ่ก็คือทำให้สื่อนี้ซึ่งมีด้านเทา ด้านมืด มันกลายเป็นพลังด้านบวกหรือบทเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้มันต้องอาศัยการจัดการของผู้ใหญ่ อยู่ ๆ จะให้เด็กดูสื่อ ผ่านเครื่องกรองจากสื่อด้านมืดให้กลายเป็นบทเรียนให้กลายเป็นสีขาว ให้กลายเป็นพลังของชีวิต อย่าไปคาดหวังว่าเด็กจะทำด้วยตนเอง

จะไปบอกว่าต้องรู้สิอะไรดำ อะไรขาว ป้าคิดว่าถ้าเราคิดภายใต้สูตรนี้ เราลืมไปว่าตอนที่เราเป็นเด็กอายุเท่าเขา เราก็ไม่ได้แตกฉานในทุก ๆ เรื่องใช่ไหม? ยิ่งสมัยนี้สื่อมันมาเร็ว มันมาแรง แล้วก็มาด้วยรูปแบบที่น่าสนใจ ป้าว่าไม่ง่ายนักที่เด็กและเยาวชนจะกรองมัน ดังนั้น มันจึงยังเหลือพื้นที่ที่เอาไว้ให้ผู้ใหญ่ทำงาน เพื่อให้เด็กสามารถกรองสื่อพวกนี้ให้เป็นพลังชีวิตให้ได้ ก่อนที่จะไปตั้งคำถามกับเด็กก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเราเองก่อนในฐานะที่เราเป็นผู้ใหญ่ว่าเราได้ติดอาวุธทางปัญญา ได้ empower เด็กๆ อย่างถูกต้องตามยุคสมัยด้วยนะ ไม่ใช่ empower ภายใต้เงื่อนไขเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แค่ปีที่แล้วยังพลาดได้เลย เพราะว่าโลกมันเป็นพลวัตรเหลือเกิน

หน้าที่ของผู้ใหญ่ก็คือทำให้สื่อนี้ซึ่งมีด้านเทา ด้านมืด
มันกลายเป็นพลังด้านบวกหรือบทเรียน
ซึ่งทั้งหมดนี้มันต้องอาศัยการจัดการของผู้ใหญ่

ทิชา ณ นคร

คิดว่าสื่อในปัจจุบันกระตุ้นให้เยาวชนคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้หรือไม่?

ป้าว่ายังไม่มีใครทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง เรามีหนังเต็มไปหมดเลย ปีหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเรื่องที่ต่างประเทศส่งเข้ามา แต่เราต้องยอมรับว่าหนังมันอยู่ในสมการเชิงพาณิชย์ มันอยู่ในสมการของทุนนิยม หนังไม่ได้ถูกส่งมาเพื่อเข้าห้องเรียน เพื่อมาเป็นอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กๆ ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าหนังมันมีบางมุมที่เป็นอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กได้ นั่นหมายถึงว่ามันต้องมีขั้นตอนการจัดการเปลี่ยนด้านมืด เปลี่ยนเชื้อโรคในหนังให้เป็นวัคซีน

ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนเชื้อโรคให้เป็นวัคซีนมันเป็นภาระของผู้ใหญ่ อย่างเช่น ป้าให้เด็กบ้านกาญจนาดูหนัง ซึ่งมีเนื้อหาทั้งเซ็กส์ ความรุนแรง มีทั้งการล้างแค้น เราจะไม่ข้ามซีนนั้นเลย จุดใดจุดหนึ่งเราก็ไม่ข้าม มีเพศสัมพันธ์ในหนังเราก็ดูมัน ไล่ยิงกัน เอาปืนจ่อหัวเราก็ดูกัน แต่สุดท้ายเราจะมาตั้งคำถามกัน หรือบางเรื่องที่มีเนื้อหาหลบหนีจากสถานการณ์ควบคุม อย่างเช่น Catch Me If You Can เราก็นั่งดูกัน สุดท้ายเด็กก็หาคำตอบได้ว่าตัวเอกของเรื่อง ถ้าพ่อเขาไม่ใช่คนแบบนี้ เราไม่สามารถสร้างมนุษย์พันธุ์นี้ขึ้นมาได้ ที่ขี้โกง หลอกหลวงทุก ๆ คนนั้น เขามองว่าส่วนหนึ่งมันถูกหลอมมาจากครอบครัว ซึ่งมันทำให้เขาคิดถึงครอบครัวของเขาด้วย

และเด็กก็สนใจหนึ่งคำที่เจ้าตัวเอกของเรื่องขึ้นมาพูดว่า “ผมอยากให้พ่อเตือนผมบ้าง แล้วทำไมพ่อไม่เตือนผม?” ซึ่งเขารู้สึกว่าข้อความนี้มันสำคัญมาก ดังนั้น เวลาเรามองว่าเด็กสถานควบคุมไม่ควรดู Catch Me If You Can เพราะมันเป็นหนังที่เล่าด้วยการแหกคุกตลอดเลย ว่าด้วยการขี้โกง ว่าด้วยด้านมืดของเด็กคนหนึ่งทั้งนั้นเลย แต่ถึงที่สุดแล้วหนังก็พาเด็กไปถึงจุดสว่างของการเป็นมนุษย์ได้ แต่นั่นเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องทำ

ตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่อง “Catch Me If You Can”

เครื่องมือที่ช่วยทำให้เด็กในสถานควบคุมได้คิด วิเคราะห์ จากสื่อต่างๆได้คืออะไร?

จริง ๆ เราก็ใช้คำถามเป็นหลัก คือเราจะไม่เปลี่ยนความจริงในตัวละคร ในหนัง ในข่าว เช่น เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งวิ่งไล่ฆ่าคนอื่นตาย พอข่าวนี้มาถึงบ้านกาญจนาภิเษก เราไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย เราแค่ใส่คำถามไปเท่านั้น บางอย่างคำถามไม่ได้ยาวมาก “ห่วงโซ่ชีวิตหลังจากการตายมีอะไรบ้าง?” “ผลกระทบนอกเหนือจากคนที่เสียชีวิตไปแล้ว คนที่ยังอยู่มีผลกระทบอะไรบ้าง?” หรือพ่อหนึ่งคนลุกขึ้นไปก่ออาชญากรรม แล้วมีลูกอายุ 2 ขวบ เราก็ให้เขาคิดถึงเด็ก 2 ขวบคนนั้นว่าเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป? เมื่อพ่อตัดสินใจที่จะเอาปืนไปยิงคนอื่น แล้วเด็ก 2 ขวบจะถูกคิดด้วยไหม? ถ้าไม่ถูกคิด ผลลัพธ์สุดท้ายของเด็ก 2 ขวบคนนั้นคืออะไร?

เวลาเด็กคิดแบบนี้เขาไปไกลมากเลย จนถึงที่สุดเด็กเข้าใจการสูญเสียของเหยื่อ เด็กเข้าใจการสูญเสียของคนตาย และเด็กเข้าใจว่าตัวเองได้ไปทำอะไรกับใครมา? ทั้งหมดนี้เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาถูกด่า เพราะเราไม่ได้มีเจตนาจะด่าเขา ไม่ได้มีเจตนาที่จะซ้ำเติมเขา แต่เราทำอย่างละเอียด อย่างประณีต อย่างเมตตาต่อทุก ๆ คน

เราก็ต้องยอมรับว่าพื้นที่สื่อมันเป็นพื้นที่ของทั้งธุรกิจ
ทั้งเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องการเร้าความสนใจ
สื่อก็มีโจทย์ของตนเองอยู่

ทิชา ณ นคร

สื่อควรสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรบ้าง?

คือจริง ๆ ก็ทั้ง 2 อย่าง คือ เราก็ต้องยอมรับว่าพื้นที่สื่อมันเป็นพื้นที่ของทั้งธุรกิจ ทั้งเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องการเร้าความสนใจ สื่อก็มีโจทย์ของตนเองอยู่ ซึ่งเราก็พยายามเข้าใจ เช่น เราคงไม่ไปบอกว่าต่างประเทศว่าคุณต้องสร้างหนังที่ทำให้เด็กกลับมาเป็นคนดี เราคงไม่ไปขนาดนั้น แต่ว่าขอให้เขามีความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังมีหน้าที่ในการรับสื่อนั้นมาใช้ด้วย คือเราไม่ได้บอกว่าคนอื่นทำตามที่เราบอก แล้วเราทำอะไร? ทุกคนก็ต้องทำกันหมด

ถ้าเราจะสร้างสังคมที่น่าอยู่ ทุกคนก็ต้องลงมือทำกันหมด แต่แน่นอนว่าถ้าสื่อรับผิดชอบโดยการผลิตสื่อออกมาอย่างระมัดระวัง เขาเรียกว่าด้านมืดหรือรอยกระเพื่อมที่อาจจะไปทำให้สังคมเสียหายอาจจะไม่มากนัก และในฐานะเราเป็นคนใช้สื่ออีก เราก็ใช้อย่างมีปัญญาอีกก่อนจะไปถึงลูกหลานเรา ถ้าทุกคนร่วมมือกันหมด เราก็จะน่าอยู่มากกว่านี้ สมัยก่อนที่ป้าไปอยู่ที่บ้านกาญจนาใหม่ ๆ เจ้าหน้าที่พอได้หนังสือพิมพ์มาเขาก็จะมาเปิดทุกหน้าแล้วตัดเจาะโฆษณาโป๊ก็เอาออก คำพาดหัวแรง ๆ ก็เอาออก ซึ่งป้ารับไม่ได้ ป้ามีความรู้สึกว่าดูมันทั้งหมด ไม่ต้องไปตัดออก การตัดออกแสดงถึงคุณกำลังไม่เคารพถึงเด็ก ๆ

แต่แน่นอนเราก็เข้าใจว่าเขามองว่าเด็กพวกนี้เขาไม่มีต้นทุน คุณก็ต้องทำต้นทุนให้พวกเขา การที่คุณเจาะข่าวออก เจาะพาดหัวออก เจาะอะไรต่อมิอะไรที่เป็นรูปโป๊ออก คุณคิดว่ามันช่วยอะไร? คุณอธิบายว่าเด็กไม่มีต้นทุน คุณก็ต้องเพิ่มต้นทุนเขา แต่ไม่ใช่ว่าเจาะเอาข่าวนี้ออกไป เพราะว่าจริง ๆ เมื่อเขาออกจากบ้านกาญจนา ภาพนี้เขาก็ต้องเจอ แล้วเขาจะจัดการตัวเองอย่างไรภายใต้สถานการณ์นั้น? ดังนั้น สื่อก็ต้องรับผิดชอบให้มากขึ้น คนที่เอาสื่อไปใช้ก็ต้องจัดการตนเองด้วยเพื่อทำให้เด็กเกิดด้านสว่างมากกว่านี้

ฝากอะไรถึงคนทำสื่อและเสพสื่อบ้าง?

จริง ๆ สำหรับคนทำสื่อ ป้าคิดว่าถ้าคุณทำด้วยความรับผิดชอบ ถึงแม้มันจะออกมาแบบไหนก็ตาม ป้าเชื่อว่ามันไม่เกิด Momentum ที่เสียหาย มันอาจจะไปสร้างแรงบันดาลใจสารพัด ถ้าสื่อทำบนความรับผิดชอบไม่ใช่สุกเอาเผากิน ส่วนคนที่จะรับสื่อก็ต้องรู้ด้วยว่าวุฒิภาวะของเด็กในช่วงหนึ่ง อายุหนึ่งเขาจะตีความได้ไม่เหมือนเรา ดังนั้น ก่อนที่เราจะส่งสื่อไปให้เด็กแต่ละอายุดู แต่ละประสบการณ์ดู ป้าไม่บอกว่าปิดกั้น แต่เราทำหน้าที่เป็นผู้ติดอาวุธทางปัญญาดีกว่า เพราะป้าเป็นคนไม่ชอบปิดกั้น อย่างเวลาป้าดูหนังกับเด็กบ้านกาญจนา เวลามันมีฉากเซ็กส์ จูบปากบางเรื่องซูมเข้าที่ปาก ลิ้นเข้าลิ้นออก ซึ่งป้าก็นั่งดูอยู่ด้วย บางทีป้าก็จะบอกว่านี่ไม่ใช่ศิลปะ เราก็ดูเอาไว้ แต่หนังบางเรื่องเราจะเห็นความเป็นศิลปะในการจูบ แล้วเราจะรู้สึกว่ามันอ่อนโยนและงดงาม เราก็พูดกันไปคุยกันไป แต่ไม่ใช่บอกว่าฉากนี้น่าเกลียด อย่าดู ป้าจะข้าม ป้าไม่ทำแบบนั้น ป้าจำได้หนังเรื่องนั้นเรื่อง Yellow หนังสายฝรั่งเศส เวลาจูบแล้วก็ซูมเข้าซูมออกแบบนี้พักใหญ่เลย ป้าจะนั่งดูกับเขาปีหนึ่งจะวนกลับมาดูทีหนึ่ง แล้วก็จะบอกเขาตลอด


การที่รับข้อมูลข่าวสารมาเป็นจำนวนมากและรวดเร็วขึ้นก็อาจทำให้ลืมคิด วิเคราะห์กับสื่อที่รับเข้ามาว่าจะส่งผลอย่างไรบ้าง? รวมไปถึงสื่อเองก็ขาดความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือสิ่งที่ตนเองสื่อสารไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้นหนทางหนึ่งที่ป้ามลได้ให้ไว้ คือ…
เปลี่ยน มุมมองสื่อ
แปลง เป็นอาวุธทางปัญญา
สื่อ อย่างเข้าใจและให้คุณค่ากับสังคม
เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งไม่ใช่กับเฉพาะบ้านกาญจนาภิเษกเท่านั้น แต่กับสังคมไทยที่รับข้อมูลข่าวสารแบบรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ป้ามล x ส่องสื่อ